X


กำลังโหลด กรุณารอสักครู่

 
 

เผยเคล็ดลับการส่งผลไม้ไปประเทศจีน


เผยเคล็ดลับการส่งผลไม้ไปประเทศจีน
1. การขออนุญาตเป็นผู้ส่งออกสินค้าของไทย ต้องดำเนินเรื่องขออนุญาตเป็นผู้ส่งออกสินค้ากับกรมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้บัตรประจำตัวผู้ส่งออกไว้ใช้ในการออกหนังสือรับรองและใบอนุญาตต่างๆที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการส่งออกจากประเทศไทย โดยผู้ยื่นคำขอจะต้องเป็นนิติบุคคล (บริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัด) ที่มีการจดเลขที่ผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว (มีใบ ภ.พ.20) ซึ่งปัจจุบันผู้ขอสามารถกรอกคำร้องขอมีบัตรประจำตัวผู้ส่งออก ผู้นำเข้าได้ทางเว็บไซต์ http://reg-users.dft.go.th (กดหัวข้อดาวน์โหลด) พร้อมแนบเอกสารเพิ่มเติมตามที่กำหนดและยื่นขอได้ที่กรมการค้าระหว่างประเทศ รายละเอียดเพิ่มติดต่อสำนักบริการการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าระหว่างประเทศ สายด่วน 1385

2. การยื่นเอกสารใบรับรองปลอดโรคพืชจากกรมวิชาการเกษตร เมื่อได้ใบรับการอนุญาตเป็นผู้ส่งออกสินค้าไทยแล้ว การส่งออกสินค้าแต่ละชนิดก็ยังมีขั้นตอนการขออนุญาตส่งออกที่แตกต่างกัน โดยหากเป็นพืชผลทางการเกษตร จำเป็นต้องขอเอกสารเพิ่มเติมประกอบการส่งออกกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งตามประกาศกรมการค้าระหว่างประเทศเรื่องการกำหนดชนิดหรือประเภทของผักและผลไม้ที่ต้องมีหนังสือรับรองในการส่งออก ระบุให้ผลไม้ที่ส่งออกไปต่างประเทศหากประเทศที่นำเข้านั้นต้องการใบรับรองปลอดโรคพืช สารตกค้าง หรือแมลง ผู้ส่งออกสามารถขอใบรับรองดังกล่าวได้ที่กรมวิชาการเกษตร

3. การเตรียมเอกสารสำหรับใช้ในการนำเข้าไปยังจีน นอกจากการเตรียมเอกสารใบรับรองของไทยเพื่อให้ผลไม้สามารถออกจากประเทศไทยได้อย่างถูกต้องแล้ว เพื่อให้สินค้าสามารถเข้าประเทศจีนได้อย่างถูกต้องทางการจีนก็ได้มีข้อกำหนดด้านสุขอนามัยผลไม้ที่จะนำเข้ามายังจีนที่ผู้นำเข้าจากทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม ซึ่งปัจจุบันประเทศจีนโดยหน่วยงาน AQSIQ ( Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine of the People’s Republic of China 国家质量监督检验检疫总局门户 ) ที่ดูแลด้านสุขอนามัยและการตรวจสอบความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดให้ผลไม้สดสามารถนำเข้าจีนได้โดยต้องขออนุญาตการนำเข้าสินค้าให้เรียบร้อยก่อนทำการส่งสินค้าออก ข้อกำหนดของเอกสารประกอบการนำเข้าจากฝั่งไทยที่ทางการจีนกำหนดนอกจากสอบถามโดยตรงที่หน่วยงาน AQSIQ แล้ว อาจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง ซึ่งมีหน้าที่ติดตามรายละเอียดการนำเข้าโดยตรง ทั้งนี้ เนื่องจากกฏระเบียบการนำเข้าของทางการจีนมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยผู้ส่งออกจำเป็นต้องติดตามกฏระเบียบการนำเข้าผลไม้ของทางการจีนอย่างใกล้ชิด รายละเอียดเพิ่มเติมด้านข้อกำหนดด้านสุขอนามัยที่สำคัญของสาธารณรัฐประชาชนจีน (http://www.thaifruits-online.com/UserFiles/File/file/Health.pdf)

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง (ติดต่อ Office of Agricutural Affairs, Royal Thai Embassy, No.11, Jian Guo Men Wai, Chaoyang District, Beijing 100600, P.R.China E-mail : moac_bj@hotmail.com Tel : 8610 65323955 Fax : 8610 65323950)

ทั้งนี้ ในการส่งออกผลไม้จากไทยเพื่อนำเข้าจีน ผู้นำเข้าจีนจะต้องมีเอกสารใบอนุญาตการนำเข้าผลไม้เพื่อยื่นขอนำเข้าด้วย สำหรับผู้ส่งออกที่ยังไม่เคยมีลูกค้าหรือผู้นำเข้าในจีนมาก่อน อาจเริ่มจากหาผู้ซื้อที่เป็นผู้นำเข้าจีน หรือผู้นำเข้าจีนที่มีใบอนุญาตการนำเข้าผลไม้ที่รับจ้างนำเข้าสินค้าเพื่อใช้เป็นผู้ยื่นขอการนำเข้าผลไม้มายังจีนได้

4. พิธีการศุลกากรจากกรมศุลกากรส่งออกสินค้าจากไทย เมื่อสินค้าได้รับการรับรองการส่งออก และมีใบอนุญาตใช้เพื่อเตรียมพร้อมในการนำเข้าผ่านหน่วยงานจีนแล้ว เพื่อให้สินค้าออกจากประเทศไทยอย่างถูกต้องยังจำเป็นต้องเตรียมเอกสารที่สำคัญ เช่น เอกสารใบขนส่งสินค้าขาออก (กศก.101) เอกสารใบราคาสินค้า Invoice (ตามจำนวนของใบขนขาออกที่ยื่นทั้งหมด) เอกสาร Packing list แสดงรายละเอียดการบรรจุหีบห่อ และเอกสารอื่นๆตามที่กรมศุลกากรต้องการ เป็นต้น โดยในขั้นตอนพิธีการศุลกากรนี้อาจมีขั้นตอนและมีการเตรียมเอกสารค่อนข้างมาก ดังนั้นส่วนผู้ส่งออกส่วนใหญ่จะใช้บริการของบริษัทชิปปิ้งที่มีบัตรผ่านศุลกากรเพื่อดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากรส่งออกแทนในนามของบริษัท ซึ่งคุณสุทธิชัยอาจเลือกใช้บริษัทที่มีประสบการณ์พิธีการศุลกากรขาออก โดยสามารถเลือกบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือได้จากรายชื่อในเว็บไซต์สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย www.ctat.or.th ได้

5. การใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีนำเข้าในจีนจากข้อตกลงการค้า FTA China-ASEAN เนื่องจากจีนและอาเซียนได้มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศ FTA China-ASEAN ซึ่งส่งผลให้สินค้าบางรายการที่ส่งออกจากไทยไปจีนไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้า ณ ประเทศจีน ซึ่งรวมถึงผลไม้สดจำนวน 23 ชนิดที่อนุญาตให้นำเข้าไปจีนด้วย ผู้ส่งออกที่ต้องการใช้สิทธิลดภาษีนำเข้านี้จะต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ฟอร์มอี (Form E) ซึ่งสามารถยื่นขอได้ที่กรมการค้าต่างประเทศของไทย หอการค้าแห่งประเทศ หรือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อใช้ประกอบการลดภาษีนำเข้าไปยังประเทศจีนเหลือร้อยละ 0 ได้ หรือตามที่รายการข้อตกลงการลดภาษีกำหนดไว้ได้ อย่างไรก็ดีสินค้าที่ใช้สิทธิประโยชน์เพื่อลดภาษีการนำเข้านั้น เมื่อยังจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าการนำเข้าอีกด้วย

6. ความรู้เบื้องต้นด้านการค้าระหว่างประเทศ นอกจากขั้นตอนการขออนุญาตส่งออก การเตรียมเอกสารส่งออก การดำเนินพิธีการศุลกากรแล้ว ผู้ส่งออกควรมีความรู้เบื้องต้นด้านการค้าระหว่างประเทศที่จำเป็นอื่นๆ อีกเช่น การคำนวณต้นทุนและการตั้งราคาสินค้าเพื่อการส่งออก วิธีการชำระเงินและเงื่อนไข การชำระเงิน การทำสัญญาการค้าระหว่างประเทศ ข้อกำหนดในการส่งมอบสินค้า (Incoterm) การขนส่งทางทะเล ทางอากาศ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เปิดคอร์สด้านการส่งออก เช่น หลักสูตรความรู้เบื้องต้นการส่งออก, หลักสูตรผู้ส่งออกอัจฉริยะ Smart Exporter โดยสถาบันฝึกอบรมการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (http://application.ditp.go.th/training_institute/index.html) และหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) เป็นต้น

7. ความรู้เบื้องต้นที่ควรมีสำหรับการค้าขายกับประเทศจีน นอกจากความรู้เบื้องต้นที่ผู้ส่งออกควรมีแล้ว ผู้ส่งออกควรมีความรู้เจาะลึกในทักษะที่ควรมีเพื่อค้าขายกับประเทศจีนอีกด้วย เช่น ความรู้ภาษาจีนเบื้องต้น ความเข้าใจอุปนิสัยทัศนคติการทำธุรกิจของคนจีนในยุคปัจจุบัน วัฒนธรรมทางการค้า การเจรจาการค้ากับชาวจีน การสื่อสารด้วยภาษาจีนเบื้องต้น การค้นหาข้อมูลทางการค้าภาษาจีน พฤติกรรมผู้บริโภคจีน ตลอดจนข้อควรระวังในการค้าขายกับจีน เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนทั้ง 9 แห่งได้จัดทำจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและรวบรวมไว้ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน www.thaibizchina.com

8. การตลาดเพื่อการหาลูกค้าในต่างประเทศ/การหาผู้นำเข้าผลไม้ในจีน หลังจากที่มีพื้นฐานความรู้ด้านการส่งออกแล้วสิ่งต่อไปคือการหาลูกค้าในต่างประเทศ ก่อนที่จะส่งออกมายังต่างประเทศอาจพิจารณาเลือกตลาดที่จะส่งออกว่าควรส่งออกไปประเทศไหน หากเลือกส่งออกมายังประเทศจีนก็ควรเลือกว่าจะส่งออกมายังประเทศจีนในพื้นที่ใด ซึ่งจีนในแต่ละพื้นที่มีรสนิยมความชอบสินค้าแตกต่างกัน กำลังซื้อต่างกัน สภาพตลาดสินค้าในแต่ละพื้นที่ก็ย่อมแตกต่างกัน ผู้ส่งออกควรทำความเข้าใจกับแต่ละพื้นที่ที่จะส่งออก ตลอดจนศึกษาข้อมูลการตลาดของสินค้าในแต่ละพื้นที่ก่อนที่จะเลือกเมืองที่จะส่งออกสินค้าไป ผู้ส่งออกอาจจำเป็นต้องเดินทางมาสำรวจตลาด ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค เสาะหาช่องทางการเข้าตลาดในการขายสินค้าด้วยตัวเอง เป็นต้น


คุณกำลังมองหา บริษัทส่งออกต่างประเทศ อยู่หรือเปล่า
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บ www.thaitpi.com
บริษัทส่งออก , ส่งสินค้าไปต่างประเทศ


แชร์